จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555


เศรษฐศาสตร์มหภาคเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) เป็นการศึกษาถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนรวม เช่น ผลิตผลรวมของประเทศ การจ้างงาน การเงินและการธนาคาร การพัฒนาประเทศ การค้าระหว่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นปัญหาที่กว้างขวางกว่าเศรษฐศาสตร์จุลภาค เพราะว่าไม่ได้กระทบเพียงหน่วยธุรกิจเท่านั้น แต่จะกระทบถึงบุคคล หน่วยการผลิต และ อุตสาหกรรมทั้งหมด และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เศรษฐศาสตร์มหภาคนั้นจะมุ่งเน้นที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเบี้องต้น(GNP) และการว่าจ้างงาน จะหาว่าอะไรเป็นสาเหตุให้ผลิตผลรวมและระดับการว่าจ้างงานมีการเคลื่อนไหว ขึ้นลง เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาต่างๆได้ตรงจุด เช่น ภาวะเงินเฟ้อเงินฝืด และ ปัญหาการว่างงาน เป็นต้น
ความสำคัญของเศรษฐศาสตร์มหภาค
ความสำคัญของเศรษฐศาสตร์มหภาค เนื่องจากเศรษฐศาสตร์มหภาคเป็นความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งมีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคน ดังนั้นเศรษฐศาสตร์มหภาคจึงมีความสำคัญดังนี้
1. ประชาชนทั่วไป ประชาชนเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้ามีความเข้าใจในภาวะเศรษฐกิจก็จะสามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของ เศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงที และจะช่วยให้ประชาชนเข้าใจและสามารถที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลได้อย่างดี ยิ่งขึ้น
2. ผู้ประกอบการ ไม่ว่าผู้ประกอบการอาชีพใดก็ต้องอาศัยความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ในการประกอบการ ตัดสินใจบริหารงานต่างๆ ซึ่งจะสามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ และเป็นการลดความเสียงจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย
3. เครื่องมือวิเคราะห์ สำหรับผู้ที่มีความรู้ในทางเศรษฐศาสตร์ในระดับสูงในทฤษฏีเศรษฐศาสตร์มหภาค เกี่ยวกับรายได้ประชาชาติ วัฎจักรเศรษฐกิจ การเงินและการธนาคาร การคลังรัฐบาล การค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจ จะเป็นเครื่องมือขึ้นต้นประกอบการวิเคราะห์เศรษฐกิจในขั้นต่อไป 

อุปสงค์ อุปทาน และ ราคาดุลยภาพ

อุปสงค์ คือ จำนวนสินค้าและบริการที่ผู้ซื้อต้องการซื้อ ณ ระดับราคาต่าง ๆหรือ ณ ระดับรายได้ต่าง ๆ หรือ ณ ระดับราคาสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยปกติจะให้ความสำคัญกับเรื่องระดับราคามากที่สุด และเมื่อราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงไป จำนวนซื้อสินค้าและบริการชนิดนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงกันข้ามเสมอ ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลของราคาซึ่งประกอบด้วยผลของการทดแทนกัน และผลของรายได้
          เส้นอุปสงค์สามารถสร้างได้จากข้อมูลในตารางอุปสงค์ ซึ่งจะแสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคา และปริมาณซื้อ โดยปกติเส้นอุปสงค์จะเป็นเส้นทอดลงจากซ้ายไปขวา เส้นอุปสงค์สามารถเปลี่ยนแปลงไปทั้งเส้น โดยอยู่ทางขวามือหรือทางซ้ายมือของเส้นเดิมก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอุปสงค์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ราคา ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ทำให้จำนวนซื้อมากขึ้นหรือน้อยลง
          อุปทาน  คือ  จำนวนสินค้าและบริการที่ผู้ขายต้องการขาย  ณ ระดับราคาต่าง ๆ ซึ่งจำนวนขายจะเปลี่ยนแปลงในทางเดียวกันกับราคาที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเส้นอุปทานซึ่งเป็นเส้นที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างราคาและจำนวนขาย จึงเป็นเส้นทอดขึ้นจากซ้ายไปขวา เส้นอุปทานสามารถเปลี่ยนแปลงไปทางซ้ายมือหรือขวามือของเส้นเดิมได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอุปทานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ราคา ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่จะทำให้จำนวนขายมากขึ้นหรือน้อยลง
          ราคาดุลยภาพ  เป็นราคาที่ทำให้จำนวนเสนอซื้อ (อุปสงค์) เท่ากับจำนวนเสนอขาย (อุปทาน) ราคาใด ๆ ที่ต่ำกว่าราคาดุลยภาพจะทำให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกิน และราคาใด ๆ ที่สูงกว่าราคาดุลยภาพจะทำให้เกิดอุปทานส่วนเกิน ราคาดังกล่าว จะปรับเข้าสู่ราคาดุลยภาพและราคาจะไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากจะมีการเคลื่อนย้ายเส้นอุปสงค์ และ/หรืออุปทาน ซึ่งอาจทำให้ราคาดุลยภาพใหม่ และ/หรือปริมาณดุลยภาพใหม่สูงขึ้นหรือลดลง
          โดยปกติรัฐบาลจะปล่อยให้กลไกราคาทำงานไปตามลำพัง โดยไม่เข้าไปควบคุมราคา ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นซึ่งกลไกราคาไม่สามารถปรับตัวได้ทัน มาตรการที่ใช้รัฐบาลจะเข้าแทรกแซงกลไกของราคาในตลาด เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมี 2 มาตรการ คือ การกำหนดราคาขั้นต่ำ (การประกันราคา) ซึ่งจะกระทำเพื่อยกระดับราคาของสินค้าที่เป็นอยู่ให้สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้ารายการที่สำคัญ เป็นการช่วยเหลือผู้ผลิตหรือผู้ขาย อีกมาตรการก็คือ การกำหนดราคาขั้นสูง เป็นมาตรการที่ใช้กำหนดราคาสินค้าไม่ให้สูงเกินเพดาน จะใช้ในระหว่างเกิดขาดแคลนสินค้า ซึ่งการขาดแคลนสินค้าทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนผู้บริโภคเดือดร้อน


           รายได้ประชาชาติ  หมายถึง มูลค่าเป็นตัวเงินของสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย ตามราคาตลาดที่ผลิตขึ้นด้วยทรัพยากรของประเทศ ในระยะเวลา 1 ปี
          รายได้ประชาชาติ คำนวณได้ 3 วิธี คือ
               1.  การคำนวณจากด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการรวมมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ประเทศผลิตขึ้น ในระยะเวลา 1 ปี
               2.  การคำนวณจากด้านรายได้ เป็นการรวมรายได้ทุกประเภทที่เจ้าของปัจจัยการผลิตได้รับจากการขายปัจจัยให้แก่ ผู้ผลิต
               3.  การคำนวณจากด้านรายจ่าย เป็นการคำนวณโดยการนำรายจ่ายของประชาชนในการซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายรวมกัน ในระยะเวลา 1 ปี
          ตัวเลขรายได้ประชาชาติ  มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการศึกษาสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ  การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ  การเงิน  และการคลังของประเทศ ขณะเดียวกัน ก็มีข้อจำกัดในการใช้ตัวเลขรายได้ประชาชาติ และเป็นเครื่องวัดประสิทธิภาพในการผลิตของประเทศ และสวัสดิการทางเศรษฐกิจ
 

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555


  ตลาดในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง การที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถตกลงซื้อขายสินค้าและบริการกันได้
          ปัจจัยที่กำหนดขนาดของตลาด  ได้แก่ ลักษณะของสินค้า  รวมถึงรูปร่างของสินค้า การบริการ  สีสัน ขนาด ตรา การสื่อสารและการคมนาคม ถ้าสินค้าใดที่สามารถขนส่งจากมือผู้ผลิตไปยังมือผู้บริโภคด้วยระบบการขนส่งที่สะดวกรวดเร็วและประหยัด ย่อมทำให้ตลาดของสินค้านั้นขยายกว้างออกไป ถ้าการสื่อสารดี ก็จะทำให้การติดต่อถึงกันสะดวกและรวดเร็ว สามารถตกลงเจรจาการค้ากันทางการสื่อสารได้ ทำให้ตลาดขยายกว้างขวางยิ่งขึ้น นโยบายของรัฐบาล  ที่เกี่ยวข้องกับตลาดของสินค้าและบริการจะมีผลทำให้ขอบเขตของตลาดขยายหรือแคบลงได้  ความต้องการของตลาด  ตลาดจะขยายตัวออกไปได้กว้างขวางเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้านั้น ๆ  การกระจายรายได้ของประชาชนในประเทศนั้น ๆ  ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยากจน มีรายได้ต่ำ การขยายตัวของตลาดสินค้าบางชนิดจะทำได้ยาก  ขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อ การบริโภคสินค้านั้น ๆ ในบางครั้งก็มีผลสืบเนื่องมาจากความเชื่อทางศาสนาหรือวัฒนธรรมด้วย 
          ลักษณะของตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์  จะต้องมีลักษณะสำคัญ ดังนี้ มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก  สินค้าที่ซื้อขายกันมีลักษณะและคุณภาพเหมือนกันทุกประการ  ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีความรู้เรื่องสภาวะตลาดเป็นอย่างดี  การติดต่อซื้อขายจะต้องกระทำได้สะดวกรวดเร็ว  ผู้ผลิดรายใหม่จะมีเสรีภาพเข้ามาดำเนินการผลิตในตลาดได้โดยสะดวก
          ลักษณะของตลาดที่มีการแข่งขันอย่างไม่สมบูรณ์  ซึ่งจำแนกออกเป็น  3 ชนิด ย่อย ๆ คือ ตลาดผูกขาดหรือตลาดผู้ขายเพียงรายเดียว  ตลาดประเภทนี้จะมีผู้ขาย ผู้ผลิตเพียงรายเดียว ทำให้สามารถกำหนดราคา ปริมาณการผลิต การจำหน่ายได้อย่างสมบูรณ์แบบ  ตลาดผู้ขายน้อยราย  จะมีผู้ขายไม่มากราย แต่ละรายจะขายสินค้าเป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณสินค้าทั้งหมดในตลาด ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด  ผู้ขายแต่ละรายจะมีอิสระในการกำหนดราคาและจำนวนผลิต โดยไม่กระทบกระเทือนต่อผู้ผลิตรายอื่น